วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

1.สิ่งแวดล้อมหมายถึงอะไร
สิ่งแวดล้อม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ประกอบด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่นและเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ประเภทของสิ่งแวดล้อม มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ (เกษม จันทร์แก้ว,2525 อ้างถึงใน กนก จันทร์ทอง, 2539)
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ สัตว์ป่า ฯลฯ สิ่งแวดล้อมประเภทนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอาจใช้เวลาเร็วหรือช้าเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดและประเภท
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) สิ่งมีชีวิต (Biotic Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิตเช่น พืช สัตว์และมนุษย์เราอาจจะเรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological Environment) ก็ได้

2) สิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต อาจจะมองเห็นหรือไม่ก็ได้ เช่น ดิน น้ำ ก๊าซ อากาศ ควัน แร่ธาตุ เมฆ รังสีความร้อน เสียง ฯลฯ เราอาจเรียกว่า สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ได้เช่นกัน
2.  สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Make Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับการสั่งสอน สืบทอด และพัฒนากันมาตลอด ซึ่ง ได้แบ่งไว้ 2 ประเภทคือ
1) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือสิ่งแวดล้อมที่สามารถมองเห็นได้ เช่น บ้านเรือน เครื่องบิน โทรทัศน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก หรือตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิต บางอย่างอาจมีความจำเป็น แต่บางอย่างเป็นเพียงสิ่งฟุ่มเฟือย
2) สิ่งแวดล้อมทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Social Environment) หรือ ( Abstract Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบสำหรับอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สิ่งแวดล้อมทางสังคมได้แก่ระบอบการปกครอง ศาสนา การศึกษา อาชีพ ความเชื่อ เจตคติ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ระเบียบข้อบังคับ ฯลฯ สิ่งแวดล้อมที่มองไม่เห็นจะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรม  สิ่งแวดล้อมกับมนุษย์
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลย์ของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้น ๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลย์ของตัวเองได้
กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น
o  ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ
o  ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา
o  ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย

2.องค์ประกอบสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์  ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีองค์ประกอบ 3  ประการดังนี้
1.   ลักษณะภูมิประเทศ
2.   ลักษณะภูมิอากาศ
3.  ทรัพยากรธรรมชาติ
ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดลักษณะภูมิประเทศ
1.  พลังงานภายในเปลือกโลก  ทำให้เปลือกโลกผันแปร  บีบอัดให้ยกตัวสูงขึ้น  กลายเป็นภูเขาที่ราบสูง  หรือทรุดต่ำลง  เช่น เหว  แอ่งที่ราบ
2.  ตัวกระทำทางธรรมชาติภายนอกเปลือกโลก  ทำให้เปลือกโลกเกิดการสึกกร่อนพังทลายหรือทับถม  ได้แก่  ลม  กระแสน้ำ ธารน้ำแข็ง
3.   การกระทำของมนุษย์  เช่น  การสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทาน   การตัดถนนเข้าไปในป่า  ทำให้ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่นั้นๆเปลี่ยนไปจากเดิม
ความสำคัญของลักษณะภูมิประเทศ
1.  ความสำคัญต่อมนุษย์  ลักษณะภูมิประเทศมีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน  การประกอบอาชีพของมนุษย์  เช่น  ที่ราบลุ่มแม่น้ำ
2.  ความสำคัญต่อภูมิอากาศของท้องถิ่น  ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูง  ย่อมมีอิทธิพลต่อลักษณะภูมิอากาศของท้องถิ่น  เช่น  ทำให้เกิดเขตเงาฝน
3.   ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น  เขตเทือกเขาสูง  ย่อมอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ  ป่าไม้และสัตว์ป่า
ประเภทของลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศจำแนกได้ 2 ประเภท  ดังนี้
1.  ลักษณะภูมิประเทศอย่างใหญ่  เห็นได้ชัดและเกิดในอาณาบริเวณที่กว้างขวาง  เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวภายในของเปลือกโลก  ทำให้เปลือกโลกยกตัวขึ้นสูงหรือทรุดต่ำลง  โดยคงลักษณะเดิมไว้นานๆ  เช่น  ที่ราบ  ที่ราบสูง  เนินเขา  และภูเขา
2.   ลักษณะภูมิประเทศอย่างย่อย  มีอาณาบริเวณไม่กว้างนัก  อาจเปลี่ยนแปลงรูปได้  มักเกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็ง  กระแสลม คลื่น  เช่น  แม่น้ำ ทะเลสาบ  อ่าว  แหลม  น้ำตก
ประเภทของที่ราบ แบ่งตามลักษณะของการเกิด
1.  ที่ราบดินตะกอน  พบตามสองฝั่งของแม่น้ำ  เกิดจาการทับถมของดินตะกอนที่น้ำพัดพา
2.  ที่ราบน้ำท่วมถึง  เป็นที่ราบลุ่มในบริเวณแม่น้ำ  มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน  เกิดจากการทับถมของดินตะกอนหรือวัสดุน้ำพา
3.  ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำบริเวณปากแม่น้ำ  เกิดจากการทับถมของโคลนตะกอนวัสดุน้ำพาจนกลายเป็นที่ราบรูปพัด
4.  ลานตะพักลำน้ำ  คือ  ที่ราบลุ่มแม่น้ำอีกประเภทหนึ่ง  แต่อยู่ห่างจากสองฝั่งแม่น้ำออกไป  น้ำท่วมไม่ถึง  ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  บางที่เรียกว่า  ที่ราบขั้นบันได
ความสำคัญของภูมิอากาศ
1.  ความสำคัญที่มีต่อลักษณะภูมิประเทศ  ภูมิอากาศทำให้ท้องถิ่นมีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน
2.  ความสำคัญที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น  ภูมิอากาศร้อนชื้น  ฝนชุก  จะมีทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าบางชนิดชุกชุม
3.  ความสำคัญที่มีต่อมนุษย์  ภูมิอากาศย่อมมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่  การแต่งกาย  บ้านเรือน
ปัจจัยที่มำให้ภูมิอากาศของท้องถิ่นต่างๆมีความแตกต่างกัน
1.  ที่ตั้ง  คือ  ละติจูดของพื้นที่
2.  ลักษณะภูมิประเทศ  คือ  ความสูงของพื้นที่
3.  ทิศทางลมประจำ  เช่น  ลมประจำปี
4.   หย่อมความกดอากาศ
5.   กระแสน้ำในมหาสมุทร
ที่ตั้ง  หรือ ละติจูดของพื้นที่ละติจูดของพื้นที่มีผลต่อปริมาณความร้อนที่ได้รับจากแสงอาทิตย์  ดังนี้
1.  เขตละติจูดต่ำ  ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปี  จึงมีอากาศร้อน
2.  เขตละติจูดสูง  ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์  ความร้อนที่ได้รับมีน้อย  จึงเป็นเขตอากาศหนาวเย็น
3.  เขตละติจูดปานกลาง  ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากน้อยตามฤดูกาล  จึงมีอากาศอบอุ่น
ความอยู่ใกล้  หรือไกลทะเล
มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของท้องถิ่น  ดังนี้
1.พื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเล  จะได้รับอิทธิพลจากพื้นน้ำ  ทำให้ฝนตกมากและอากาศเย็น
2.พื้นที่ที่อยู่ไกลทะเล   เช่น  อยู่กลางทวีป  อากาศจะแห้งแล้ง
ความสูงของพื้นที่  มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของท้องถิ่น
พื้นที่ยิ่งสูงอากาศยิ่งหนาวเย็น  เนื่องจากความร้อนที่ผิวพื้นโลกได้รับจากดวงอาทิตย์จะแผ่สะท้อนกลับสู่บรรยากาศ  ดังนั้นบริเวณที่อยู่ใกล้พื้นผิวโลกจึงมีความร้อนมาก
การขวางกั้นของเทือกเขาสูง
มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของท้องถิ่น    ถ้าเทือกเขาสูง  วางตัวกั้นทิศทางของลมประจำ  เช่น  ลมมรสุมฤดูฝน  จะเป็นผลให้ด้านหน้าของเทือกเขาได้รับความชุ่มชื้น  มีฝนตกชุก ส่วนด้านหลังของเทือกเขาเป็นเขตอับลมฝนแห้งแล้ง ที่เรียกกันว่า  เขตเงาฝน
การจำแนกเขตภูมิอากาศโลกตามวิธีการของเคิปเปน
เคิปเปน  นักภูมิอากาศวิทยาชาวออสเตรีย  ได้กำหนดประเภทภูมิอากาศของโลกออกเป็น 6 ประเภท  โดยกำหนดสัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษ  ดังนี้

1.  แบบร้อนชื้น (a)  มีอุณหภูมิสูงตลอดทั้งปี  ฝนตกชุก  พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ
2.  แบบแห้งแล้ง (b)  มีอุณหภูมิสูง  แห้งแล้ง มีฝนตกน้อยมาก  พืชพรรณเป็นพืชทะเลทราย
3.  แบบอบอุ่น  หรือชื้น อุณหภูมิปานกลาง (c)  อากาศอบอุ่น  อุณหภูมิปานกลาง  พืชพรรณเป็นป่าไม้ผลัดใบเขตอบอุ่น
4.  แบบหนาวเย็น  อุณหภูมิต่ำ  (d) อากาศหนาวเย็น  อุณหภูมิต่ำ  พืชพรรณเป็นป่าผลัดใบเขตอบอุ่น  ป่าเขตหนาว  และทุ่งหญ้าแพรี
5.  แบบขั้วโลก (e)  อากาศหนาวเย็นมากที่สุด อุณหภูมิต่ำมาก  พืชพรรณเป็นหญ้ามอส  และตะไคร่น้ำ
6. แบบภูเขาสูง  (h) เป็นลักษณะภูมิอากาศแบบพิเศษ  พบในเขตภูเขาสูง  มีภูมิอากาศหลายแบบทั้ง a, c, d  อยู่ร่วมกันตามระดับความสูงของภูเขา  ยิ่งสูงอากาศยิ่งหนาว  พืชพรรณธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่
หลักเกณฑ์การแบ่งเขตภูมิอากาศของเคิปเปน
เคิปเปน  มีหลักเกณฑ์การพิจารณา 3 ประการ  ดังนี้
1.  อุณหภูมิของอากาศในท้องถิ่น
2.  ปริมาณฝนของท้องถิ่น
3.  ลักษณะพืชพรรณของท้องถิ่น
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  มี 4 ประเภท  ดังนี้
1. ดิน                         2.  น้ำ                        3. แร่ธาตุ                         4.  ป่าไม้
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.  การเพิ่มของจำนวนประชากร  ทำให้การบริโภคทรัพยากรสิ้นเปลืองอย่างรวดเร็ว
2.  การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่  เช่น  เลื่อยไฟฟ้าตัดไม้ในป่า
3.  การบริโภคฟุ่มเฟือย  ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  สนับสนุนให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย  ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสูญสิ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยที่ทำให้ดินในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน
ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์   ประกอบด้วย  อนินทรีย์วัตถุ  มีร้อยละ  45 อินทรีย์วัตถุ  มีร้อยละ 5  น้ำร้อยละ 25  และอากาศร้อยละ  25  ปัจจัยที่ทำให้ดินในแต่ละท้องถิ่นมีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน  คือ
1.  ลักษณะภูมิประเทศ  พื้นที่ลาดชันมาก  การสึกกร่อนพังทลายของดินมีมาก
2.   ลักษณะภูมิอากาศ  ในเขตร้อนชื้น  ฝนตกชุก    การชะล้างของดินและการผุพังสลายตัวของแร่ธาตุ  ซากพืชซากสัตว์ในดินจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพเร็ว
3.  สัตว์มีชีวิตในดิน  เช่น  ไส้เดือน  จุลินทรีย์ในดิน  จะช่วยย่อยซากพืชซากสัตว์  ทำให้ดินได้รับฮิวมัสเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ควบคุมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ
1.  น้ำบนดิน  ได้แก่  แม่น้ำ  ลำคลอง  หนอง  บึง
2.  น้ำใต้ดิน หมายถึง  น้ำบาดาล  ปริมาณน้ำใต้ดินจะมีมากน้อย ขึ้นกับ
-  ปริมาณฝนของพื้นที่นั้นๆ
-  ความสามารถในการเก็บกักน้ำของชั้นหินใต้พื้นดิน
ประเภทของแร่ธาตุ
1.  แร่โลหะ  คือแร่ที่ประกอบด้วยธาตุโลหะ   มีความวาวให้สีผงเป็นสีแก่  ได้แก่  xxxีบุก  ทังสเตน  พลวง
2.  แร่อโลหะ  คือแร่ที่ไม่มีความวาวแบบโลหะ  ให้สีผงเป็นสีอ่อน ได้แก่  ดินขาว หินปูน  หินอ่อน
3.  แร่เชื้อเพลิง  คือแร่ที่มีสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอน  ทำเป็นเชื้อเพลิง  ได้แก่  น้ำมันปิโตรเลียม  ก๊าซธรรมชาติ
4.  แร่นิวเคลียร์    คือแร่ที่นำมาใช้ในกิจการพลังงานปรมาณู  เช่น  ยูเรเนียม
การจำแนกประเภทของป่าไม้
1.  ป่าไม้ไม่ผลัดใบ  มีใบเขียวตลอดปี  พบในเขตฝนชุก  มี 4 ชนิด  ดังนี้
1.1  ป่าดงดิบ  มีลักษณะเป็นป่ารกทึบ
1.2  ป่าดิบเขา  มีลักษณะคล้ายป่าดงดิบ
1.3  ป่าสนเขา  เป็นไม้สน  ขึ้นในเขตภูเขาสูง
1.4  ป่าชายเลน  ขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่มีหาดเลน  บางที่เรียกว่า  ป่าเลนน้ำเค็ม
2.  ป่าไม้ผลัดใบเป็นป่าไม้ที่ผลัดใบในฤดูแล้ง  มี   2 ชนิด  ดังนี้
2.1  ป่าเบญจพรรณ  เป็นป่าโปร่ง  ผลัดใบในฤดูแล้ง
2.2  ป่าแดง  เป็นป่าโปร่ง  มีทุ่งหญ้าสลับทั่วไป

3.สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากสาเหตุใหญ่ 3 ประการ คือ
1.            การเพิ่มจำนวนของประชากร
2.            การเพิ่มความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ความต้องการพื้นที่ทำกินทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีการบุกรุกทำลายป่าอันควรสงวนไว้เพื่อรักษาดุลยภาพ
ของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ความต้องการในการใช้ทรัพยากรอื่นๆ เป็นต้นว่า น้ำ อากาศ แร่ธาตุ แหล่งพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพียงเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ยังขาดการวางแผนการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความต้องการในอนาคต จนเกิดความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยทั่วไปและอาจทำให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงในอนาคต หากยังมีการทำลายหรือการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติกันอย่างไม่ระมัดระวังต่อไปอีก
2. การรวมตัวของประชากรหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์
เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเช่นเดียวกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วจะขาดการวางแผนและผังเมืองไว้ล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหาของเมืองขึ้น เป็นต้นว่าการใช้ที่ดินที่ไม่มีระเบียบแบบแผน ปัญหาการจราจร การขาดแคลนทางด้านสาธารณูปโภคและการบริการโดยทั่วไป รวมทั้งการพักผ่อนหย่อนใจอันแสดงถึงสภาพความเสื่อมโทรมทั้งทางด้านกายภาพสังคม และคุณภาพของชีวิตของคนในเมืองทุกขณะการขยายตัวของเมืองนั้นโดยปกติจะมีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์จากการอยู่ใกล้ชิดกับเมืองที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึง การมีตลาดการคมนาคมและบริการพื้นฐานต่างๆ ที่ดีกว่าเมืองหรือชุมชนขนาดเล็ก การขยายตัวทางอุตสาหกรรมมักจะขาดการวางแผนหรือควบคุมที่เพียงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย อากาศเป็นพิษจากของเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ปล่อยออกมา ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านกายภาพ และทางด้านสุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชากรเช่นเดียวกัน

3. การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตในทางด้านการเกษตร
การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพของดิน ปัญหาดินเป็นพิษ ซึ่งอาจจะแผ่กระจายตัวลงสู่แม่น้ำ ลำธาร จนเป็นสาเหตุของน้ำเสีย หรือทางด้านอุตสาหกรรม วิธีการในการผลิตที่ใช้สารตะกั่ว ปรอท สารหนู ฯลฯ สารเหล่านี้จะเป็นพิษร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชากร และยากแก่การแก้ไขหรือทำลายส่วนที่ตกค้างให้หมดสิ้นไป การใช้พลังงานก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นได้หลายประการ
จะเห็นได้ว่าปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจากคน และการกระทำของคนทั้งสิ้นดังนั้นในการแก้ไขและวางแผนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม

4.ผลที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผลที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผลสืบเนื่องอันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ เนื่องจาก มีการใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด อาทิ ป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำ ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษในน้ำ ในอากาศและเสียง มลพิษในอาหาร สารเคมี อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง
กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น

1.ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ   ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย
2. ปัญหามลพิษที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมีมากมาย มิใช่แต่เพียงมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางดินที่เรารู้จักกันดีเท่านั้น การที่สภาวะแวดล้อมของเราเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นของการพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้นั้น หากมิได้มีการวางแผนอย่างถี่ถ้วนรัดกุม การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจกลายเป็นปัญหามลพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเมืองเรา คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานครได้ก่อให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมอย่างมากมาย จนกระทั่งบางเรื่องอาจลุกลามใหญ่โตจนไม่สามารถแก้ไขได้ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเรา  การที่เมืองขยายออกไป ผืนดินที่ใช้ทางการเกษตรที่ดีก็ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัย ที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มกลับกลายเป็นแหล่งชุมชน คลองเพื่อการระบายน้ำถูกเปลี่ยนแปลงเป็นถนนเพื่อการคมนาคม แอ่งที่จะเป็นที่ขังน้ำถูกขจัดให้หมดไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เมื่อถึงหน้าน้ำหรือเมื่อฝนตกใหญ่ กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกครั้ง น้ำท่วมก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมากมาย เริ่มต้นด้วยโรคน้ำกัดเท้า และต่อไปก็อาจเกิดโรคระบาดได้
ปัญหาขยะก็เป็นมลพิษที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หากเมืองใหญ่ขึ้น ผู้คนมากขึ้น ของทิ้งก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา การเก็บขยะให้หมดจึงเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ ๆ ต่าง ๆ หากเก็บขยะไปไม่หมด ขยะก็จะสะสมหมักหมมอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นที่เพาะเชื้อโรค และแพร่เชื้อโรค ทำให้เกิดลักษณะเสื่อมโทรมสกปรก นอกจากนี้ ขยะยังทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ เมื่อมีผู้ทิ้งขยะลงไปในน้ำ การเน่าเสียก็จะเกิดขึ้นในแหล่งนั้น ๆ   การจราจรที่แออัดนอกจากเกิดปัญหามลพิษทางอากาศแล้วยังมีปัญหาในเรื่องเสียงติดตามมาด้วย เพราะยวดยานที่ผ่านไปมาทำให้เกิดเสียงดังและความสะเทือน เสียงที่ดังเกินไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ บางคนดัดแปลงยานพาหนะของตนไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ทำให้เสียงดังกว่าปกติ โดยนิยมกันว่าเสียงที่ดังมาก ๆ นั้นเป็นของโก้เก๋ คนเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าตนกำลังทำอันตรายให้เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น เสียงที่ดังเกินขอบเขตจะทำให้เกิดอาการทางประสาท ซึ่งอาจแสดงออกเป็นอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือทางอารมณ์ เช่น เกิดอาการหงุดหงิด ใจร้อนควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ เป็นต้น นอกจากนี้เสียงที่ดังเกินไปอาจทำให้เกิดความเสื่อมกับอวัยวะในการรับเสียงอีกด้วย ผู้ที่ฟังเสียงดังเกินขอบเขตมาก ๆ จะมีลักษณะหูเสื่อม ทำให้การได้ยินเสื่อมลง เป็นต้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือปัญหาสารมลพิษที่แปลกปลอมมา ในสิ่งที่เราจะต้องใช้บริโภค อาหารที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้อาจมีสิ่งเป็นพิษแปลกปลอมปนมาได้ โดยความบังเอิญหรือโดยความจงใจ
การใช้สารมีพิษเพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ความสนใจในโทษของสารเคมีที่ใช้ในการปราบศัตรูพืชยังมีน้อยมาก ในประเทศไทย วัตถุมีพิษที่ใช้ในกิจการดังกล่าวส่วนใหญ่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ที่นิยมใช้กันอยู่มีประมาณ 100 กว่าชนิด วัตถุมีพิษเหล่านี้ผสมอยู่ในสูตรต่าง ๆ มากกว่า 1,000 สูตร เมื่อมีการใช้วัตถุมีพิษอย่างแพร่หลายมากเช่นนี้ สารมีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม และสารมีพิษตกค้างในอาหาร ซึ่งทำให้ทั้งคนและสัตว์ได้รับอันตราย จึงปรากฎมากขึ้น จากการวิเคราะห์ตัวอย่างต่าง ๆ พบว่า ปริมาณสารมีพิษประเภทยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ที่ตกค้างในน้ำและในสัตว์น้ำมีแนวโน้มของการสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าบางกรณีปริมาณวัตถุมีพิษที่สะสมอยู่ในสัตว์น้ำที่ประชาชนใช้บริโภคอยู่ จะมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานที่บางประเทศกำหนดไว้ก็ตาม หากคิดว่าโดยปกติคนไทยจะนิยมบริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารหลักด้วยแล้ว ปัญหานี้ก็จะเป็นเรื่องที่น่ากลัวอันตรายมาก


5.ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ
ระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กับบริเวณแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่
ระบบนิเวศนั้นเป็นแนวคิด (concept) ที่นักนิเวศวิทยาได้นำมาใช้ในการมองโลกส่วนย่อย ๆ ของโลกเพื่อที่จะได้เข้าใจความเป็นไปบนโลกนี้ได้ดีขึ้น
ระบบนิเวศหนึ่ง ๆ นั้น ประกอบด้วยบริเวณที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ และกลุ่มประชากรที่มีชีวิตอยู่ในบริเวณดังกล่าว พืชและโดยเฉพาะสัตว์ต่าง ๆ ก็ต้องการบริเวณที่อยู่อาศัยที่มีขนาดอย่างน้อยที่สุดที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อว่าการมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น สระน้ำแห่งหนึ่งเราจะพบสัตว์และพืชนานาชนิด ซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริเวณน้ำที่มันอาศัยอยู่โดยมีจำนวนแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด สระน้ำนั้นดูเหมือนว่าจะแยกจากบริเวณแวดล้อมอื่น ๆ ด้วยขอบสระ แต่ตามความเป็นจริงแล้วปริมาณน้ำในสระสามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยน้ำฝนที่ตกลงมา ในขณะเดียวกันกับที่ระดับผิวน้ำก็จะระเหยไปอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลเข้ามาเพิ่มก็จะพัดพาเอาแร่ธาตุและชิ้นส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เน่าเปื่อยเข้ามาในสระตัวอ่อนของยุงและลูกกบตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในสระน้ำ แต่จะไปเติบโตบนบก นกและแมลงซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกสระก็จะมาหาอาหารในสระน้ำ การไหลเข้าของสารและการสูญเสียสารเช่นนี้จึงทำให้สระน้ำเป็นระบบเปิดระบบหนึ่ง
หากมีแร่ธาตุไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การเจริญเติบโตของพืชเพิ่มมากขึ้น เช่น ไฟโตแพลงตันหรือพืชน้ำที่อยู่ก้นสระ ปริมาณสัตว์จึงเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อปริมาณสัตว์เพิ่ม ปริมาณของพืชที่เป็นอาหารก็จะค่อย ๆ น้อยลง ทำให้ปริมาณสัตว์ค่อย ๆ ลดตามลงไปด้วยเนื่องจากอาหารมีไม่พอ ดังนั้นสระน้ำจึงมีความสามารถในการที่จะควบคุมตัวของมัน (Self-regulation) เองได้ กล่าวคือ จำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในสระน้ำจะมีจำนวนคงที่ ซึ่งเราเรียกว่ามีความสมดุล
สระน้ำนี้ จึงเป็นหน่วยหนึ่งของธรรมชาติที่เรียกว่า "ระบบนิเวศ" (Ecosystem) ซึ่งกล่าวได้ว่าระบบนิเวศหนึ่ง ๆ นั้น เป็นโครงสร้างที่เปิดและมีความสามารถในการควบคุมตัวของมันเอง ประกอบไปด้วยประชากรต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ไร้ชีวิต ระบบนิเวศเป็นระบบเปิดที่มีความสัมพันธ์กับบริเวณแวดล้อมโดยมีการแลกเปลี่ยนสาร และพลังงาน ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวชุมชนที่มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ใช้ชีวิตนั้นรวมกันเป็นระบบนิเวศ
ระบบนิเวศอาจมีขนาดใหญ่ระดับโลก คือ ชีวาลัย (biosphere) ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่อหุ้มโลกอยู่และสามารถมีขบวนการต่าง ๆ ของชีวิตเกิดขึ้นได้หรืออาจมีขนาดเล็กเท่าบ่อน้ำแห่งหนึ่ง แต่เราสามารถจำแนกระบบนิเวศออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ ดังนี้
ระบบนิเวศทางธรรมชาติและใกล้ธรรมชาติ (Natural and seminatural ecosystems) เป็นระบบที่ต้องพึ่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะทำงานได้ 1.1 ระบบนิเวศแหล่งน้ำ (Aguative cosystems)
1.1.1 ระบบนิเวศทางทะเล เช่น มหาสมุทรแนวปะการัง ทะเลภายในที่เป็นน้ำเค็ม
1.2 ระบบนิเวศบนบก (Terresttrial ecosystems)
1.2.1 ระบบนิเวศกึ่งบก เช่น ป่าพรุ
1.2.2 ระบบนิเวศบนบกแท้ เช่น ป่าดิบ ทุ่งหญ้า ทะเลทราย
ระบบนิเวศเมือง-อุตสาหกรรม (Urbanindustral ecosystems)
เป็นระบบที่ต้องพึ่งแหล่งพลังงานเพิ่มเติม เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง พลังนิวเคลียร์ เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใหม่
ระบบนิเวศเกษตร (Agricultural ecosystems)
เป็นระบบที่มนุษย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางธรรมชาติขึ้นมาใหม่

6.ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบนิเวศ
 มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ  ระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์  มนุษย์สังเคราะห์แสงเงไม่ได้จึงไม่อาจสร้างอาหารด้วยตัวเอง  ต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากป่าไปใช้ประโยชน์  วิธีการเก็บเกี่ยวมีหลายแบบ  บางวิธีทำให้ระบบนิเวศเสื่อมลง  แต่บางวิธีนอกจากจะไม่ทำลายยังช่วยให้เกิดการกระจายพันธุ์  และเพิ่มพูนคุณค่าทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ  ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในระบบนิเวศจึงเป็นความสัมพันธ์สองทาง คือ ทั้งใช้หรือเอาออกไปจากระบบ และให้หรือเกื้อกูลให้ระบบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ในสมัยก่อน  มนุษย์ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศป่าทางด้านอาหาร  ที่อยู่อาศัย  ยา  ไม้ฟืนและไม้ใช้สอย และใช้อยู่ในท้องถิ่น  คนในแต่ละท้องถิ่นจึงต้องคุ้มครองรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศป่าไม้ของตนเอาไว้ใช้ประโยชน์  กระบวนการคุ้มครองรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  เรื่องที่เกี่ยวข้องมากก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันบางเรื่องก็เกี่ยวข้องเป็นครั้งคราวหรือตามฤดูกาล และสิ่งเหล่านี้ก็พัฒนาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม  แต่ในยุคพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา  วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปจากการอยู่เป็นกลุ่มเป็นชุมชนเผ่าต่าง ๆ  กลมกลืนไปกับระบบนิเวศที่หลากหลาย  มาเป็นวิถีชีวิตแบบคนเมือง  ทำให้แบบแผนการพึ่งพาทรัพยากรเปลี่ยนไป และไม่ได้จำกัดเพียงแค่พอใช้สอยในท้องถิ่น  แต่เก็บไปสนองความต้องการอันไม่มีขีดจำกัดในเมืองและยังมุ่งสะสมเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ไปพัฒนาเมือง  ในระยะแรกทรัพยากรพื้นฐานที่เก็บเกี่ยวจากป่าเพื่อการนี้คือไม้ซุง  เพราะสมัยก่อนใช้ไม้ก่อสร้างบ้านเรือนอาคารร้านค้าต่อเรือสินค้าเดินทะเลขนาดใหญ่ไปค้าขายหรือไปล่าอาณานิคม  ส่วนไม้ขนาดเล็ก  สมุนไพรหรือพืชอาหารในป่าไม่ได้รับความสนใจและยังถูกมองเป็นวัชพืชที่เกะกะกีดขวางการเจริญเติบโตของไม้เศรษฐกิจ และเพื่อแข่งกันพัฒนาเมืองให้โตเร็วที่สุด  จึงได้มีการปรับวิธีการและปริมาณการเก็บหาทรัพยากรจากระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด
ระบบการจัดการป่าไม้เพื่ออุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจของคนในเมือง  ระบบนิเวศป่าซึ่งชุมชนท้องถิ่นดูแลต้องถูกยึดหรือรวบมาเป็นของรัฐ  มีการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาควบคุมการทำไม้ซุงหารายได้เข้ารัฐ  ใครให้ประโยชน์แก่รัฐมากก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเก็บหาหรือทำประโยชน์ตามระบบสัมปทาน  สัมปทานป่าไม้จึงเน้นการเก็บเกี่ยวไม้ซุงออกจากระบบนิเวศ  จึงมีการพัฒนาระบบการปลูกบำรุงป่าต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ  ส่วนไม้อื่นหรือชั้นรองจะถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศโดยตรงจากการถูกไม้ใหญ่ล้มทับหรือจากการชักลากไม้  นอกจากนี้ยังถูกทำลายทางอ้อมเพราะถูกกีดกันไม่ได้รับแสงแดดและจึงค่อย ๆ เฉาตายไปในที่สุด  ระบบนิเวศป่าหลังการทำไม้ในระบบสัมปทานจึงเสื่อมโทรมมากแม้เนื้อไม้หรือมวลชีวภาพที่เก็บเกี่ยวไปในรูปไม้ซุงจะมีปริมาณไม่มากนัก  เรื่องนี้เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  เป็นเหตุให้ประเทศพัฒนาปรับปรุงการเก็บเกี่ยวไม้ซุงโดย
วิธีที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ  เช่น  ชักลากไม้ทางอากาศด้วยสายเคเบิล  แต่การทำไม้วิธีนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อไม้จากประเทศกำลังพัฒนา  ป่าเขตร้อนในประเทศพัฒนาจึงไม่ค่อยมีการทำไม้  ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่มักมาจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเนื้อที่ป่าเหลือน้อยลงทุกที  เนื้อที่ป่าประเทศพัฒนาจึงเพิ่มขึ้นและป่าก็สมบูรณ์ขึ้น  ส่วนป่าในประเทศกำลังพัฒนากลับลดลงและเสื่อมโทรมลงเพราะประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจให้เปิดป่าเพื่อทำไม้และยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำไม้ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

ระบบนิเวศป่าเขตร้อนมีลักษณะเฉพาะตัว  กล่าวคือ  มีความซับซ้อนหลายหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์  ภูมินิเวศ และเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่า  การพึ่งพิงระบบนิเวศป่าโซนร้อน  จึงมีหลายรูปแบบทั้งทางเศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในการจัดการระบบนิเวศป่าเขตร้อนให้สนองวัตถุประสงค์หลายด้าน  สนองความต้องการที่หลากหลายของคนทุกกลุ่ม และสอดคล้องกับระบบนิเวศจึงยุ่งยากซับซ้อน  ทำได้ยากและยังไม่มีที่ใดประสพความสำเร็จ  นอกจากในการจัดการแบบดั้งเดิมที่อิงวัฒนธรรมและสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
การจัดการระบบนิเวศป่าของไทยในปัจจุบันเนื่องจากเน้นด้านพัฒนาเศรษฐกิจมาก  ไม่ละเว้นแม้แต่พื้นที่คุ้มครองเข้มงวดที่รัฐเปิดให้ทำธุรกิจท่องเที่ยวก็ยังไม่เหมาะสม  สมควรต้องการปรับเปลี่ยน  เพราะทำให้ป่าอยู่ไม่ได้และประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่หลากหลายหรือได้เฉพาะคนบางกลุ่ม  ชุมชนจึงล่มสลาย  การจัดการระบบนิเวศป่าเพื่อให้เกิดป่าสูงที่มีไม้ชั้นอากาศอายุเดียวกัน หรือใกล้เคียงลดหลั่นกันไปและจัดการตัดฟันเพื่อเปิดโอกาสให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสูงได้มีโอกาสสืบต่อพันธุ์และเติบโตทดแทนกันได้อย่างต่อเนื่องอาจจะไม่เพียงพอเสมอไป  บางพื้นที่ต้องพัฒนาระบบที่รวมไปถึงการจัดการพืชคลุมดินชั้นล่างเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มปริมาณน้ำที่ซึมลงดิน  ตลอดจนการจัดการไม้ชั้นรองเพื่อนำใบดอกและผลไปเป็นอาหารของคนและสัตว์  ส่วนไม้โพรงไม้ผุใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า  ดังนั้นทางเลือกของระบบจัดการป่าแบบใหม่จึงไม่ควรสร้างป่าชั้นอายุเดียวที่ใช้ผลผลิตเพียงอย่างเดียวในขั้นสุดท้าย  แต่ควรจะต้องสร้างป่าให้มีต้นไม้หลากหลายประโยชน์ต่อเนื่องกันไป  อันจะช่วยเชื่อมโยงการอนุรักษ์ระบบนิเวศและพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน  การจัดการระบบนิเวศป่าแบบนี้เป็นการจัดการแบบประณีตซึ่งหน่วยงานของรัฐทำไม่ได้เพราะไม่มีความประณีตและศักยภาพเพียงพอสามารถทำงานได้เฉพาะด้านเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอ  ในสถานการณ์ปัจจุบันโดยทั่วไปจึงไม่พบว่ามีวิธีใด (รวมทั้งวืธีการประกาศป่าอนุรักษ์แล้วห้ามไม่ให้มีกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ยกเว้นพนักงานเจ้าหน้าที่) ที่ดีไปกว่าวิธีการจัดการป่าในรูปแบบหรือกระบวนการของ "ป่าชุมชน" ซึ่งสามารถสนองความต้องการของชุมชนในระดับยังชีพ หรือหาอยู่หากินได้
ป่าชุมชนโดยทั่วไปเป็นผืนป่าผืนเล็ก ๆ  มีขนาดและรูปแบบผันแปรไปตามลักษณะและพัฒนาการของชุมชน  ป่าชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับระบบนิเวศป่าในท้องถิ่น  ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนจะราบรื่นและยาวนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของชุมชนเป็นสำคัญ  ชุมชนล่มสลายป่าก็หมด  ป่าหมดชุมชนก็ล่มสลาย  ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างป่ากับชุมชนจึงเป็นที่รับรู้กันมานาน  ดังนั้นเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการป่าที่เหมาะสม  จึงต้องมีการพัฒนาองค์กรชุมชน  สร้างแผนการจัดการนิเวศป่าชุมชน  โดยชุมชนเป็นผู้ทำ  แผนการจัดการนิเวศป่าชุมชนจะช่วยให้เห็นภาพรวมของป่าทั้งผืน  ทำให้รู้จักเข้าใจและเห็นคุณค่าป่าผืนใหญ่  ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้มองเห็นระบบนิเวศย่อย ๆ ในระบบนิเวศป่าผืนใหญ่  เช่น  ที่สูงเป็นป่าดิบเขา  ที่โคกเป็นป่าโคก  หนองน้ำหรือที่น้ำท่วมขังเป็นฤดูกาลก็มีป่าพรุหรือป่าบุ่งป่าทามขึ้นอยู่  ที่ดินตื้นมีกรวดหินมากอากาศแห้งแล้งก็มีป่าเต็งรังขึ้น  หากมีดินหนาขึ้นมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นมาสักหน่อยก็จะมีป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบแล้ง  เป็นต้น  ดังนั้นหากรู้จักระบบนิเวศดีพอ  รู้จักเนื้อหาองค์ประกอบของระบบนิเวศที่มีอยู่ในป่า  รู้จักกฎเกณฑ์หน้าที่ตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในป่า  รู้ถึงผลกระทบและรู้จักจัดการกับผลกระทบจากการเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์สรรพสิ่งจากระบบนิเวศ และตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้  คนกับระบบนิเวศก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน  คนไม่ทำลายป่าและป่าก็จะไม่ทำลายคน คือ ไม่โค่นล้มมาทับหรือเป็นเหตุให้ชุมชนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่
กระบวนการที่จะช่วยให้คนรู้จักระบบนิเวศป่า  อยู่กับป่าและพึ่งพาป่าได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกันมีหลายรูปแบบ  แต่รูปแบบที่มีการจัดการ  มีกลไกทางสังคมและทางการบริหารจัดการคอยควบคุมอีกชั้นหนึ่ง คือ รูปแบบของป่าชุมชน  ป่าชุมชนจึงช่วยให้ป่าได้รับการคุ้มครอง  ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับ  ในระดับที่ได้ดุลยภาพหรือไม่ทำลายเพื่อช่วยให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์  ดุลยภาพเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกฏธรรมชาติ  มีการถ่ายทอดพลังงาน  การหมุนเวียนธาตุอาหาร  การทดแทน  การรบกวนทำลายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากมนุษย์  ตลอดจนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ  หากชุมชนพึ่งระบบนิเวศมากเกินจุดดุลยภาพและระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้ตามธรรมชาติ  ก็อาจต้องช่วยเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการปลูกเสริมและป้องกันอันตรายจากไฟหรือสัตว์เลี้ยงหรือใช้ระบบการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของต้นไม้  ซึ่งมีมากมายหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ  ป่าชุมชนจึงไม่ใช่ป่าเพื่อเศรษฐกิจมุ่งทำไม้หรือผลิตไม้ไว้ใช้สอย  แต่ไม้ใช้สอยเป็นผลผลิตหนึ่งในหลาย ๆ อย่างของการจัดการระบบนิเวศป่าชุมชน
การจัดการระบบนิเวศที่เป็นป่ามีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ  เช่น  คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ  เพื่อน้ำ และเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า  ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพคนส่วนใหญ่จะนึกถึงป่าและต้นไม้ในป่า  แต่ความสำคัญของป่าในเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิด  ขนาด หรือความหนาแน่นของต้นไม้  แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าของชีวภาพต่อมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  ป่าในพื้นที่ราบที่ลุ่มต่ำจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าป่าที่สูง  เพราะยิ่งสูงความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะเกี่ยวกับชนิดและพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตยิ่งลดลง  ดังนั้นหากจะจัดการระบบนิเวศป่าเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจึงไม่ควรอพยพโยกย้ายคนจากที่สูงลงมาที่ลุ่มต่ำ และโดยสถานการณ์ทั่วไปก็ไม่ควรอพยพคนหรือชุมชนโดยอ้างเพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์  เพราะการอพยพทำให้วัฒนธรรมและความเป็นชุมชนล่มสลาย  ชุมชนตั้งใหม่จะใช้ป่าและทรัพยากรทุกอย่างอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอดกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย  ทำให้ระบบนิเวศป่าซึ่งรวมถึงดินและน้ำในที่ต่ำถูกทำลาย  ในทางการจัดการลุ่มน้ำ  คนส่วนใหญ่นึกถึงป่าบนภูเขาสูงทางภาคเหนือ  เป็นความจริงอยู่มากว่าพื้นที่ป่าตามภูเขาสูงมีความสำคัญต่อน้ำและต่อสภาวะอากาศประจำถิ่น  แต่พื้นที่อื่น ๆ  อาทิ  ที่ลุ่มและที่ริมลำห้วยลำธารก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน  โดยเฉพาะประเด็นการเก็บกักรักษาน้ำอาจสำคัญกว่าบนยอดเขาด้วยซ้ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เขาไม่สูงมากนักเพราะที่ลุ่มริมห้วยมีชั้นดินลึกกว่าสามารถเก็บน้ำได้มากกว่าที่สูงชันซึ่งมีแต่หินไม่ค่อยมีเนื้อดินจึงเก็บกักน้ำไม่ได้  นอกจากนี้การให้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำใด ๆ มิได้เกิดจากอิทธิพลของป่าแต่เพียงอย่างเดียวยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ  อาทิ  ลักษณะภูมิประเทศ  เช่น  ความสูงชัน  ลักษณะดินหิน และภูมิอากาศ  เช่น  ปริมาณน้ำฝน  อุณหภูมิ  ความชื้น  ดังนั้นการจัดการป่าเพื่อน้ำจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติและกลไกธรรมชาติซึ่งมีข้อจำกัดอยู่มากและกฎเกณฑ์วิธีการของชุมชนในลุ่มน้ำ  ถ้าต้องการให้มีน้ำพอใช้  คุณภาพดี และมีใช้ตามเวลาที่ต้องการ  ก็ต้องจัดการป่า  จัดการลุ่มน้ำร่วมกับชุมชน  ไม่ใช่ล้อมรั้วหรือปล่อยป่าทิ้งไว้ตามยถากรรมซึ่งที่สุด  น้ำก็ไม่ได้  ป่าก็ไม่เหลือ  ทางด้านการคุ้มครองจัดการสัตว์ป่าก็มีความสำคัญเช่นกัน  แต่วิธีการจัดการสัตว์ป่าในปัจจุบันก็ยังมีปัญหา  สัตว์ป่ามีค่าหายากหลายชนิดอยู่ในความควบคุมของมนุษย์โดยเทคโนโลยี  สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า  เพื่อป้อนแหล่งธุรกิจท่องเที่ยวตามสวนสัตว์ของประเทศที่ไม่มีป่าหรือสัตว์ป่า  สุดท้ายจึงหนีไม่พ้นประเด็นเพื่อธุรกิจการค้า  สัตว์ชนิดใดมีศักยภาพในทางการค้าก็จะมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะถูกไล่ล่าจนใกล้สูญพันธุ์จึงจะได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนโดยที่หลายชนิดก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว  ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนว่าการคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นรายชนิดรักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ไม่ได้  การป้องกันรักษาเฉพาะถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าก็รักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ไม่ได้  เพราะการสูญเสียชีวิตสัตว์ป่าส่วนใหญ่เกิดจากคน  คนจึงเป็นปัจจัยสำคัญและหากให้การศึกษา  มีความรู้ความเข้าใจสามารถจัดการสัตว์ป่าได้ในระดับที่เหมาะสมก็จะได้ประโยชน์เพราะสัตว์ป่าจะสามารถสืบพันธุ์ทดแทนกันได้แต่หากควบคุมไม่ได้ก็จะทำให้สัตว์สัตว์ป่าสูญพันธุ์ไป   โดยปกติสังคมไทยชนบทเลี้ยงสัตว์ไม่กี่ชนิดเพื่ออาศัยแรงงาน  อาทิ  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย หรือเป็นอาหาร และไม่ทรมานสัตว์โดยขังไว้ในกรงตามบ้านเพื่อไว้ดูเล่นหรือจำหน่ายเหมือนคนในเมือง  ชุมชนใกล้ป่าก็พึ่งพาสัตว์ป่าบางชนิดเป็นอาหารแบบหาอยู่หากิน และหากนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนก็มักทำไปเพื่อสิ่งของที่จำเป็น  เช่น  ข้าว  ยา  มิได้ทำเป็นธุรกิจการค้าใหญ่โต  สัตว์ป่าจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน (ซึ่งปัจจุบันบทบาททางอาหารลดน้อยลงไปเพราะมีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น) และการหาสัตว์ป่าบางชนิดเป็นอาหารช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่า  เกิดประโยชน์ในแง่การศึกษาอย่างมหาศาล  องค์ความรู้เรื่องสัตว์ป่าทั้งของเมืองไทยหรือทั่วโลกก็ได้มาจากชาวบ้านจากพรานป่าเหล่านี้  ป่าชุมชนจึงเป็นประโยชน์ในแง่การคุ้มครองรักษาและจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าได้อีกทางหนึ่ง  ถึงแม้ว่าป่าชุมชนบางแห่งจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก  แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจและจัดการได้เหมาะสมก็ช่วยคุ้มครองสัตว์ป่าได้  ธรรมชาติของสัตว์ที่อาศัยในป่ามิได้กระจายอยู่ตามแนวราบเท่านั้น  ยังกระจายตามแนวดิ่งตามชั้นความสูงของระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ปีกและสัตว์ห้อยโหนและระบบนิเวศป่าช่วยสมดุลประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นป่าใหญ่หรือป่าเล็ก  แต่หากมีการจัดการระบบนิเวศป่าที่ดี  ก็จะช่วยเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพให้คุณค่าทางด้านต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าเช่นกัน
ระบบนิเวศป่าจึงเป็นที่รวมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสังคมทุกระดับชั้น  ดังนั้นหากจะต้องหาทางเลือกในการคุ้มครองระบบนิเวศป่าให้อยู่ได้  คนในสังคมซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรต้องเป็นผู้ตัดสินใจ  หากสังคมต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากป่าก็ต้องจัดการให้ได้ผลผลิตอย่างนั้น  เช่น  ต้องการไม้ซุงก็ต้องจัดการป่าให้ไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจได้มีโอกาสเจริญเติบโตมากกว่าพืชพรรณชนิดอื่นและตัดฟันออกมาใช้ประโยชน์  นอกจากนี้ยังอาจใช้รูปแบบการจัดการแบบสัมปทานรายใหญ่  รายย่อย หรือจัดการโดยรัฐ  หากต้องการน้ำก็สร้างกลไกลควบคุมการไหลของน้ำ  ควบคุมป้องกันคุณภาพน้ำในลำธาร  โดยออกกฎหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้  หากต้องการสัตว์ก็ต้องเสริมสร้างแหล่งอาหาร  น้ำและพันธุ์ไม้ที่สัตว์ต้องการเพื่อดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาอยู่อาศัยและหากิน  หากต้องการประโยชน์หลาย ๆ อย่าง  เช่น  น้ำใช้และทำการเกษตร  ไม้ใช้สอย  สัตว์ป่า  แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและสิ่งแวดล้อมที่ดี  รวมทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะชนเผ่าที่อยู่มาก่อนแล้ว  ก็ต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมที่ให้ความสำคัญทุกด้าน  ซึ่งก็หมายถึงการจัดการป่าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ดีของคนซึ่งรวมเรียกว่าวัฒนธรรม

เมืองไทยจะคุ้มครองและจัดการระบบนิเวศป่าในรูปแบบใด  จึงจะเสริมคุณค่าทางอนุรักษ์และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้หากไม่ใช้รูปแบบป่าชมชน  อันเป็นทางเลือกที่เป็นทางออกได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเพราะสามารถสร้างเสริมนิเวศป่าให้เป็นมรดกไทยได้โดยคนไทย  โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใดมาประกาศเป็นมรดกโลกแล้วจัดการไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์  มิฉะนั้นป่าจะไร้ซึ่งระบบการคุ้มครองจัดการที่เหมาะสมและโปร่งใส และง่ายต่อการถูกทำลายโดยกระบวนการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และหากป่าถูกทำลาย  ใครเป็นผู้ผิด  จริงอยู่ที่กฎหมายมีเจตนาที่จะรักษาป่า  แต่กฎหมายที่ห้ามหรือตัดความสัมพันธ์ของคนกับป่า  ขัดกับความเป็นจริง และหลักวิชาการของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบนิเวศ  ซึ่งคนและป่าต้องพึ่งพากัน  จึงต้องเน้นให้คนใช้ประโยชน์จากป่าด้วยความเคารพและปกป้องคุ้มครองป่าเท่าเทียมกับชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง  คนชนบทลักลอบตัดไม้ขาดโรงเลื่อยและโรงงานแปรรูปได้  โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายให้กับคนทั่วไป  คนที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือสินค้าจากป่าผ่านกระบวนการเช่นนี้  ก็มีส่วนร่วมในการลักตัดไม้จากป่าจึงถือได้ว่าเป็นกรรมหรือการกระทำร่วมกันตั้งแต่คนตัดไม้  แปรรูปจนถึงผู้บริโภค  จะสำคัญผิดแยกตัวผู้บริโภคไม้ออกมาจากชาวบ้านผู้ลักตัดไม้หาได้ไม่  เพราะหากไม่มีผู้ซื้อไม้ก็จะไม่มีผู้ตัดไม้ขาย  ไม่มีคนซื้อที่ดินก็จะไม่มีคนถางป่าขายที่ดิน  เพราะการถางเผาป่าให้โล่งเตียนไม่ใช่งานเบางานสบาย และหากเคราะห์ร้ายก็ต้องถูกจับไปลงโทษ  ถ้าเหมาเอาคนอยู่ในเขตป่าเป็นผู้ร้าย  เป็นศัตรูกับป่า  เมืองไทยก็จะมีคนที่ตกอยู่ในข่ายเป็นอาชญากรเกือบสิบล้านคน  หากมีคนเกิดใหม่ในคนกลุ่มนี้ร้อยละสองหรือปีละประมาณสองแสนคน  ก็หมายความว่ามีผู้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นปีละสองแสนคน  ราชการคงจะต้องจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาปราบปรามคนเหล่านี้  ซึ่งไม่มีผู้ใดได้ประโยชน์  ประเทศชาติเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากมุมมองหรือแนวทางแก้ปัญหาแบบนี้  การกันเขตที่ดินป่าไม้ที่ไม่ใช่ป่าและชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินอยู่แล้วไว้เป็นป่าเศรษฐกิจหรือป่าอนุรักษ์ในความควบคุมดูแลของรัฐ  จึงเข้าข่ายเสียน้อยเสียมากเสียง่าย  เป็นเหตุให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้ป่าสมบูรณ์ดีกลายเป็นป่าเสื่อมสภาพ  ดังที่เห็นกันอยู่มากมายในยุคที่มีการอนุญาตให้เอกชนเช่าป่าเสื่อมโทรมทำธุรกิจ  โดยไม่พิจารณาถึงศักยภาพของชุมชน
ในอดีตเพียงเมื่อชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนเห็นพ้องต้องกัน  ก็เกิดป่าชุมชนได้แล้วภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของชุมชน  สมาชิกของชุมชนเคารพกฎเกณฑ์ และแบ่งปันกัน  ไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องสิทธิของชุมชน  ซึ่งเป็นแนวคิดของทางตะวันตก  ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย  แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการมุ่งใช้มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดและควบคุมป่า  ข้อตกลงของชาวบ้านหรือชุมชนไม่มีความหมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองป้องกันภัยจากคนนอกชุมชนหรือคนในเมือง  ข้อตกลงของชุมชนกลายเป็นข้อตกลงที่ไม่ถูกกฎหมาย  ดังนั้นในสถานการณ์ซึ่งมีการแก่งแย่งแข่งขั้นการใช้ทรัพยากรสูงในปัจจุบันหากสังคมไทยอยากให้ป่าชุมชนเดิมอยู่ได้และเกิดป่าชุมชนขึ้นมาใหม่  ก็จะต้องยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการคุ้มครองดูแลระบบนิเวศป่า และกระตุ้นสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันวางแผนการคุ้มครองจัดการนิเวศป่าให้เหมาะสม  เมื่อมีกลไกในการสนับสนุนและควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม  การสนับสนุนให้เกิดป่าชุมชนในพื้นที่คุ้มครองดูจะเสริมความมั่นคงได้ดีกว่าการปล่อยให้พื้นที่คุ้มครองตกเป็นภาระของทางราชการ  ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลาง  ไม่ต่างอะไรกับการจัดการป่าในระบบอุตสาหกรรมโดยสัมปทาน  เพียงแต่ของที่นำไปขายไม่ใช่ไม้ซุงเหมือนเดิม  แต่ขายสิทธิประโยชน์ในการควบคุมจัดการทรัพยากร  เช่น  การท่องเที่ยว  สร้างถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกจูงใจคนไปเที่ยวเพื่อหวังรายได้  โดยไม่คำนึงว่าระบบนิเวศป่าจะสามารถที่จะรองรับได้หรือไม่  ส่วนคนกลุ่มไหนจะได้รับความไว้วางใจให้จัดการ  ควรปล่อยให้ชุมชนตกลงกันเองโดยมีกลไกควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม
เจตนารมย์ในการคุ้มครองรักษาระบบนิเวศป่าและกลไกการสนับสนุนและติดตามควบคุมการจัดการระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนได้มีการนำเสนอไว้แล้วใน พระราชบัญญัติป่าชุมชน  ที่นำมาทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบของทางราชการ  หากช่วยกันสนับสนุนป่าชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นใหม่  จะช่วยให้ชุมชนเริ่มกระบวนการคุ้มครองระบบนิเวศ และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศได้  ส่วนทิศทางในอนาคตคงต้องอาศัยเวลาและนำประสบการณ์ของทุกฝ่ายมาพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติต่อไป

7.ความสัมพันะระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต
1. กฎความต้องการต่ำสุด (Law of Minimum) ในปี ค.ศ.1840 จัสตัส ฟอน ลีบิก นักพฤกษศาสตร์และสรีระ พบว่าธาตุอาหาร ความชื้น อุณหภูมิ สารอาหาร และธาตุที่จำเป็นอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสัมพันธ์อยู่ด้วย มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชหากได้รับในปริมาณที่พอเหมาะพืชจะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าได้รับในปริมาณน้อยเกินขีดจำกัดที่จะอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะตายได้
2. กฎความทนทานของเชลฟอร์ด (Law of Tolerance) เชลฟอร์ดเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้ศึกษาทางนิเวศวิทยาของสัตว์ พบว่า ไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมที่มีน้อยเกินไปเท่านั้นที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามีมากเกินไปก็มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีช่วงของความทนทาน ต่อปัจจัยต่าง ๆ เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ถ้าสูงหรือต่ำกว่าช่วงดังกล่าวจะเป็นอันตราย ไม่สามารถดำรงอยู่ในที่นั้นได้ หรือไม่สามารถเติบโตแพร่พันธุ์ได้
3.หลักการแห่งความสัมพันธ์ที่มีขอบเขตขวางกั้นของปัจจัยสิ่งแวดล้อม
หลักการนี้กล่าวไว้ว่า ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นไม่สามารถแยกปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง โดยไม่กระทบถึงส่วนอื่นของระบบนิเวศได้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียงใด ก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้เพราะสิ่งแวดล้อมเกิดจากการประสานงานกันของหลายปัจจัย
4.หลักการของปัจจัยที่เป็นตัวการจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
หลักการนี้กล่าวว่า ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมใดก็ตามที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นจนไม่เป็นปัจจัยจำกัดของสิ่งนั้น ๆ อีกต่อไป แต่จะมีผลกระทบไปถึงปัจจัยอื่นและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกันเป็นลูกโซ่ จนทำให้ระบบนิเวศหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกระบบนิเวศหนึ่งได้ เช่น ป่าผลัดใบ เมื่อมีความชื้นเพียงพอจะกลายเป็นป่าดงดิบได้ เป็นต้น

8.ความสัมพันะระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต
1.สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Physical environment/Abiotic factor) ซึ่งประกอบด้วย สารประกอบอินทรีย์และ
อนินทรีย์(Abiotic substant)และสภาพแวดล้อมทางกายภาพไม่ว่าจะเป็น
-สภาพภูมิอากาศ:อุณหภูมิ น้ำ ความชื้น แสง ลม
-ลักษณะทางธรณีวิทยา: ดิน หิน แร่ธาตุ
-การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งรบกวน(Disturbance):
การรบกวนตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด ไฟ แผ่นดินไหว พายุ
การรบกวนที่มีสาเหตุจากมนุษย์
สิ่งแวดล้อมทางกายภาพไม่ว่าจะเป็น แสงสว่าง อุณหภูมิ แร่ธาตุ ความชื้น PH ความเค็ม กระแสลม กระแสน้ำ ฯลฯ มีผลต่อสิ่งมีชีวิตในหลายๆด้านเช่น
จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
การแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิต
จำนวนประชากรสิ่งมีชีวิต
รูปร่างลักษณะของสิ่งมีชีวิต
พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต

9.อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่องสิ่งแสดล้อม
ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของชีวิตคือสสารและพลังงาน  ซึ่งไม่มีชีวิตใดสร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเอง  ที่มาของสสารและพลังงานมาจากสิ่งแวดล้อม  ในขณะเดียวกันชีวิตก็ไม่สามารถเก็บสสารและพลังงานนั้นเอาไว้ในตัวได้ตลอดเวลา  ดังนั้นชีวิตจึงจำเป็นต้องถ่ายเทสสารและพลังงานออกจากตัวซึ่งก็เข้าสู่สิ่งแวดล้อมอีกเช่นกัน  ดังนั้นชีวิตทั้งมวลซึ่งรวมถึงมนุษย์จึงไม่สามารถดำรงอยู่โดยปราศจากสิ่งแวดล้อมที่จะรองรับการถ่ายเทสสารและพลังงานเอาไว้  นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ชีวิตต่างๆ  ต้องมีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด  ซึ่งมีผลต่อการวิวัฒนาการของชีวิตในที่สุด (จิรากรณ์  คชเสนี, 2549 : 7)
สิ่งแวดล้อมรอบๆ  ตัวมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ  หรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น  ล้วนมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความเป็นอยู่  การอยู่รอด  และมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตและมนุษย์  รวมทั้งวิธีจัดการกิจกรรมต่างๆ  ของมนุษย์เป็นอย่างมาก  การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของโลก  ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา  สภาพลมฟ้าอากาศ  ลักษณะภูมิประเทศ  ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์  เพราะสิ่งแวดล้อมจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบ  การกระจายผลผลิตของสังคมพืชและสัตว์  ซึ่งส่งผลสะท้อนไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากที่สุด  โดยจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในแต่ละยุค  แต่ละสมัย  ขึ้นอยู่กับลักษณะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันเป็นวงจรไม่สามารถที่จะบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งใดมีอิทธิพลต่อสิ่งใดมากกว่ากัน  สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของมนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ก็เป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม  เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง  ย่อมส่งผลกระทบต่อของมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงอีกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะดำเนินต่อไปในอนาคต (ภาณี  คูสุวรรณ์  และศจีพร  สมบูรณ์ทรัพย์, 2542 : 4)
สรุปฉบับความคิดของเจ้าตัว  ได้ดังนี้  มนุษย์เกิดจากสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นมนุษย์จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นส่วนหนึ่งโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่มนุษย์มีบทบาทมากในการกำหนดความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นการการนำมาใช้  การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น  รวมถึงทำลายเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง  ล้วนมีผลกระทบที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น  แต่มนุษย์หารู้ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายล้อมพวกเขานั้นถูกกำหนดให้สัมพันธ์กันในทุก ๆ  ด้าน  เหมือนเป็นกระจกสะท้อนผลการกระทำของตัวเราเองด้วยซ้ำ  หรือมองอีกในแง่ของธรรมะก็อาจเปรียบได้ว่า  "ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว"  ก็คงไม่ผิด  ยกตัวอย่างเช่น  การทำลายป่าไม้ของมนุษย์ในระยะ  10  ปีที่ผ่านมา  จากสถิติของกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่มีปีใดเลยที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นหรืออยู่ในปริมาณคงที่ แต่ลดลงอย่างน่าใจหาย  ผลที่ตามมาก็คือ  น้ำท่วม  ดินถล่ม  อากาศเสีย  ฯลฯ  บางกรณีอาจจะน้อยแต่ก็มีส่วน  อีกตัวอย่างคือ  การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งเศรษฐกิจดีเท่าไร  โรงงานอุตสาหกรรมยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  ถึงจะมีมาตรการควบคุมควันพิษ  และน้ำทิ้งจากโรงงาน  แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อยู่ดี  เช่นน้ำมีมลสาร  อากาศมีมลสาร  เป็นต้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนแต่ถูกสะสมมาเป็นสิบสิบปีหรืออาจจะมากกว่านั้น  แต่มนุษย์ก็หลีกเลี่ยงการพัฒนาไม่ได้  อาจจะเพื่อระดับความเป็นอยู่  หรือความสะดวกสบาย  ก็แล้วแต่กรณีต่าง ๆ  นา ๆ  แต่ก็ไม่ใช่ว่ามนุษย์ได้ละเลยผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้  ยังมีหลายกลุ่มหลายหน่วยงานที่มองเห็นและกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นและได้ปฏิบัติทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น  แต่ในที่สุดแล้วกลุ่มคนส่วนใหญ่ละเลยและมองข้ามปัญหาเหล่านี้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และคิดว่าตัวเองเป็นเพียงคนคนนึงคงแก้ไขอะไรไม่ได้  แต่หารู้ไม่ว่ากลุ่มคนส่วนน้อยจะรวมเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ถ้าทุกคนทำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะบรรเทาลง  หรือจะรอให้ธรรมชาติปับตัวของมันเอง  เมื่อถึงวันนั้น  ชีวิตคงเริ่มต้นจาก 1 ใหม่ (ยุคสร้างโลก)

แหล่งอ้างอิง
- www.novabizz.com
- www.ki-wem.com
- www.school.net.th
- www.warehouse.mnre.go.th
- www.efe.or.th